Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

ออกกำลังกายวันละนิด พิชิตข้อเข่าเสื่อม

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากวันที่ 12 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันโรคข้อสากล (World Arthritis Day)” เพื่อรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อ

สำหรับในประเทศไทยพบปัญหาโรคกระดูกและข้อที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมสึกหรอของข้อต่อต่างๆ ของร่างกายภายหลังการใช้งานมานาน ภาวะข้อเสื่อมตามสภาพนั้นจึงเกิดขึ้นกับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น

โรคข้อเสื่อมจึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ด้วยอาการปวดข้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป บางรายพบตั้งแต่อายุ 30 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายอัตราส่วน 3 : 1 และมีอาการปวดรุนแรงมากกว่า

ในจำนวนนี้พบว่าเป็นอาการของข้อเข่าเสื่อมและอักเสบ ถึงร้อยละ 28.34 เนื่องจากเป็นข้อที่รับน้ำหนักและใช้งานมาก ดังนั้น การรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนับว่ามีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการดูแลช่วยเหลือตนเองลดอาการปวด ลดอาการแทรกซ้อน ชะลอการเสื่อมของข้อ ป้องกันความพิการ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม คือ อายุที่มากขึ้นจะมีความเสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น โรคที่ส่งเสริมให้อาการของข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นได้แก่ โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ความอ้วน การใช้งานข้อเข่ามากเกินไป เกิดจากพันธุกรรม และการออกกำลังกายที่มีการกระแทกรุนแรง

สำหรับอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีการปวดทั่วๆ ไปบริเวณข้อ ไม่สามารถระบุตำแหน่งชัดเจนได้และมักปวดเรื้อรัง อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน หรือลงน้ำหนักลงบนข้อนั้นๆ และจะทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน เมื่อโรครุนแรงขึ้นอาจทำให้มีอาการปวดตลอดเวลา หรือปวดในช่วงเวลากลางคืนร่วมด้วย

นอกจากนี้อาการที่พบคือข้อฝืดซึ่งจะเป็นในช่วงเช้าและช่วงหลังจากการพักข้อนานๆ เช่น หลังจากตื่นนอนหรือนั่งนานๆ แต่มักไม่เกิน 30 นาที อาการแสดงของข้อเข่าเสื่อม ระยะแรก อาจมีอาการข้อเข่าบวมเล็กน้อยและข้อฝืด ระยะท้าย ข้อบวมและผิดรูป เป็นลักษณะข้อเข่าโก่ง หรือข้อเข่าฉิ่ง ข้อที่บวมเป็นการบวมจากกระดูกงอก หรือมีของเหลวในข้อ มีการสูญเสียการเคลื่อนไหวและการทำงานของข้อ ข้อเข่าเหยียดและงอได้ไม่สุด กล้ามเนื้อรอบหัวเข่าอ่อนแรง ผู้ป่วยเดินไม่สะดวก อาจมีเสียงดังกรอบแกรบในข้อขณะเคลื่อนไหว

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารข้อเข่าเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดโดยการออกกำลังและบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม โดยการออกกำลังแบบแอโรบิค ซึ่งเป็นการออกกำลังกายเพื่อความฟิตของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจแข็งแรง ปอดดี กระดูกไม่บาง กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ กระชับ มีความแข็งแรงและใช้งานได้ทนทาน

ตัวอย่างการออกกำลังแบบแอโรบิคในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ การเดินช้าๆ การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งจะดีมากสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากน้ำมีแรงพยุงตัวทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลัง ชนิดที่มีแรงกระทำต่อข้อเข่ามากๆ เช่น การวิ่ง การกระโดดเชือก หรือการเต้นแอโรบิคที่มีการกระโดด เนื่องจากจะเป็นผลเสียต่อข้อเข่า ดังนั้น การออกกำลังกายอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมและยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าได้ ส่งผลให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ