Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

วิธีทำให้สมองอ่อนเยาว์

คุณผู้อ่านอาจได้อ่านผ่านตาเกี่ยวกับการดูแลสมองในแง่ของการดูแลสุขภาพโดยรวมกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การเล่นเกมประเภทต่าง ๆ ที่มีงานวิจัยบอกว่าช่วยลับสมอง การเล่นดนตรีเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหารที่เหมาะสมใช่ไหมคะ?

เมื่อสัปดาห์ก่อนกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษได้ออกข่าวว่า สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ที่กระทรวงกำลังตั้งใจทำเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมก็คือ การหาวิธีวัดอายุสมองที่แท้จริง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อคนเราอายุเลย 20 ปีไปแล้ว สมองเรามีแต่จะเสื่อมลงเรื่อย ๆ และยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะเริ่มแสดงอาการของโรคที่เรียกว่า Age Related Cognitive Decline (ARCD) ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ส่งผลให้เริ่มหลงลืม วอกแวกง่าย รวมถึงมีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจนั่นเองค่ะ

ก่อนที่จะไปไกลถึงขนาดนั้น เชื่อได้ว่า คุณผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะอายุยังไม่มากนัก และบางท่านอาจจะมีลูกเล็กอยู่ด้วย สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กมักจะให้ความสนใจเมื่อได้อ่านบทความลักษณะนี้ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะถนอมสมองของลูกน้อยได้บ้าง ด้วยเพราะสมองเองเป็นอวัยวะสำคัญแต่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา (เหมือนกับนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือผิวหนังที่ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราจะเห็นได้ทันที) ดังนั้น เรื่องการดูแลสมองนี้จึงเป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ทำได้เป็นครั้งคราว คือเมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการบางอย่างเห็นได้ชัด เราจึงจะตระหนักและให้ความสำคัญ แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายยังไม่แสดงอาการอะไร ก็ยังคงวางใจนั่นเองค่ะ

ดร.แจ๊ค เลวิส นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสมองหลายต่อหลายเล่ม รวมถึงได้เขียนงานวิจัยเกี่ยวกับการชะลอความแก่ของสมองที่ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยาศาสตร์ ได้นำเสนอวิธีการง่าย ๆ ในการดูแลสมองให้อ่อนเยาว์ไว้ 3 ข้อคือ

1. พยายามลดสารอนุมูลอิสระที่จะเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระ หรือแม้กระทั่งอนุมูลอิสระที่ทำให้หน้าแก่มาบ้าง จริง ๆ แล้วอนุมูลอิสระเกิดได้ 2 ทางคือ เกิดจากขบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย กับเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การออกกำลังกายมากจนเกินไป แต่จากงานวิจัยอีกหลายฉบับพบด้วยว่า การที่ร่างกายได้รับสารอนุมูลอิสระมาก ๆ จะเข้าไปแทรกซึมในเนื้อสมอง ซึ่งคนที่ได้รับส่วนใหญ่มักผ่านทางการสูบบุหรี่ การสูดดมควันต่าง ๆ ทั้งไอเสียรถและเครื่องจักร รวมไปถึงการรับประทานอาหารไขมันเยอะ จำพวกเนื้อติดมัน เช่น คอหมูย่าง หมูติดมัน เป็นต้น วิธีที่ดีที่สุดคือลดการสูบบุหรี่ ลดการรับประทานเนื้อแดงแล้วให้รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นอย่างน้อย 5 ส่วนต่อวันก็จะสามารถช่วยได้ค่ะ

2. ออกกำลังกายให้มากขึ้น การออกกำลังกายมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระขึ้นได้ แต่ถ้าไม่ออกกำลังกายเลยก็ใช่ว่าจะกำจัดสารอนุมูลอิสระได้นะคะ คุณผู้อ่านต้องไม่ลืมว่าในทุก ๆ นาที สมองจะมีเลือดที่ลำเอียงอาหารและออกซิเจนผ่านเข้าไปเพื่อที่จะทำให้สมองทำงานได้เป็นปกติ เมื่อไหร่ก็ตามที่สมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ อย่างดีก็ทำให้เกิด Silent Cerebral Infarct หรือถ้าแย่กว่านั้นคือเกิดการอุดตันของเส้นเลือดสมองได้ ดังนั้นขั้นแรกคือการดูแลหัวใจให้สูบฉีดเลือดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเสียก่อน ซึ่งต้องบอกว่า วิธีการที่จะช่วยได้ก็คือการออกกำลังกายเพราะช่วยให้หลอดเลือดลำเลียงออกซิเจนได้ดี รวมถึงส่งอาหารไปยังเซลล์สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกกำลังกายให้มากขึ้นหมายรวมไปถึงการเดินให้มากขึ้น ให้ร่างกายขยับเขยื้อนมากขึ้น โดยไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นการออกกำลังกายที่โรงยิมเพียงอย่างเดียว

3. มีงานอดิเรก คำถามหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของสมองที่ไม่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์อัจฉริยะก็คือความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อพบกับความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ นี้เป็นตัวช่วยให้สมองบังคับตัวเองในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ซึ่งหมายรวมถึงการเปลี่ยนทิศทางการเชื่อมโยงของเซลล์สมองใหม่ รวมถึงการสร้างโครงข่ายของเซลล์สมองเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ด้วย ทาง Albert Einstein College of Medicine ในสหรัฐได้ทำการวิจัยแล้วพบว่า งานอดิเรก 4 อย่างที่จะช่วยทำให้สมองเสื่อมช้าลง และรวมไปถึง งานอดิเรกทั้ง 4 อย่างนี้ ถ้าได้ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ หรือถ้าได้เริ่มตั้งแต่ยังเยาว์วัย จะเป็นส่วนช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นนั่นก็คือ การเล่นดนตรี (ที่ไม่ใช่แค่ฟังดนตรี) ได้รับการทำวิจัยมามากมายว่าช่วยเรื่องการพัฒนาสมอง สิ่งหนึ่งที่งานอดิเรกอย่างนี้ช่วยทำให้สมองทำงานได้ดีและเป็นระบบมากขึ้นก็เพราะการเล่นดนตรีต้องใช้ทักษะความสัมพันธ์หลายอย่าง เช่น การเป่าแซกโซโฟนก็จำเป็นต้องใช้อวัยวะไม่ว่าจะเป็น นิ้ว ปอด หรือแม้กระทั่งปาก เพื่อให้ได้เสียงดนตรีที่มีความไพเราะ การอ่านโน้ตเพลงไปพร้อม ๆ กับการแปลโน้ตนั้นบังคับให้สมองต้องเรียกข้อมูลกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่า การเล่นดนตรีเปรียบเสมือนการเล่นยิมนาสติกของสมองนั่นเองค่ะ การเล่นหมากรุก จะหมากฮอส หรือหมากล้อม ก็ได้ผลเท่ากันไม่ผิดกติกานะคะ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการเล่นหมากรุกนั้นไม่ใช่แค่เพียงอาศัยการคิด พิจารณาความเป็นไปได้ หรือการจินตนาการแค่นั้น แต่กลยุทธ์หรือวิธีการต่าง ๆ นั้นแน่นอนว่าต้องใช้สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองส่วนที่สัมพันธ์กับส่วนของสมองที่เรียกว่า working memory (ซึ่งเป็นส่วนที่เราใช้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน) งานวิจัยตีพิมพ์ด้วยว่า ยิ่ง working memory ได้รับการพัฒนาและฝึกฝนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลดีต่อพัฒนาการของสติปัญญามากขึ้นเท่านั้น การเต้นรำ ในที่นี้หมายถึงการเต้นรำที่มีแบบแผนชัดเจน เช่น การเต้นบอลรูม เพราะการเต้นลักษณะนี้จะต้องใช้ความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆร่างกายให้ตรงกับท่วงทำนองเพลง ในขณะเดียวกันสมองจะหลั่งสารออกซิโทซิน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสบายใจ ทำให้สมองมีความผ่อนคลายด้วยค่ะ การอ่าน การอ่านเป็นการฝึกสมองในรูปแบบหนึ่ง ในการที่จะผูกตัวพยัญชนะหลายตัวรวมกันกลายเป็นคำ จากคำกลายเป็นประโยค และเพื่อที่จะให้ประโยคมีความหมาย หลังจากนั้นเราจะจินตนาการภาพของความหมายจากการอ่านนั้นขึ้นในสมอง ลองคิดดูถึงหนังสือที่เพิ่งอ่านจบไป เหตุการณ์ที่ยังจำได้

สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เซลล์สมองจัดเรียงรูปแบบใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะเลือกงานอดิเรกแบบไหน ทั้งการเล่นดนตรี การเล่นหมากรุก การเต้นรำ การอ่าน สิ่งสำคัญที่จะทำให้สมองอ่อนเยาว์ลงได้คือการทำให้บ่อย ๆ เป็นนิสัย และใช้เวลาให้มาก เพราะการที่จะทำในระยะเวลาอันสั้นก็คงไม่เห็นความแตกต่างเช่นเดียวกับการไม่ได้ทำนั่นเองค่ะ

 

อาจารย์ ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล