อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี
การจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ห้องน้ำ’ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อเราอายุเพิ่มมากขึ้น
วันนี้จึงมาแนะนำวิธีเบื้องต้น ในการปรับห้องน้ำให้ปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุ จากคู่มือบ้านใจดี “บ้านที่ออกแบบเพื่อทุกคน Universal Design Home” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นแนวคิดการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของต่างๆ ให้เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่ม ด้วยการคำนึงถึงการใช้งานอย่างคุ้มค่า มีประโยชน์ และปลอดภัยครอบคลุมสำหรับทุกคน ซึ่ง สสส. เองได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเชื่อว่าหากสังคมได้เปิดโอกาส และพัฒนาศักยภาพของคนกลุ่มนี้อย่างเต็มที่แล้ว ก็จะเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
ไม่รอช้า...เรามาดูกันเลยว่า วิธีการปรับห้องน้ำให้เหมาะสม และปลอดภัยกับผู้สูงอายุ ทำได้อย่างไร มาเริ่มกันเลยค่ะ
1.สถานที่...ใกล้ สะดวก
เริ่มกันด้วยสถานที่ตั้งของห้องน้ำ หากทำได้ควรเลือกวางตำแหน่งห้องน้ำอยู่ใกล้ห้องนอน หรือมีอยู่ในห้องนอนได้ก็ยิ่งดี เพราะผู้สูงอายุมักจะเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ทางเดินไปห้องน้ำต้องสะดวก และไม่มีสิ่งกีดขวางที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ขนาดความกว้างของห้องน้ำที่เหมาะสมควรกว้าง 150-200 เซ็นติเมตร
2.กระเบื้องดี...ปลอดภัยไปกว่าครึ่ง
พื้นห้องน้ำ ต้องเรียบ แต่ไม่ลื่น ให้สะดุด ควรเลือกใช้กระเบื้องปูพื้นชนิดไม่ลื่น รุ่นที่มีลวดลายในแผ่นจะช่วยเพิ่มแรงเสียดทาน เลือกขนาดแผ่นเล็กดีกว่ากระเบื้องขนาดใหญ่มาก เพราะร่องยาแนวกระเบื้องที่ถี่กว่าจะช่วยให้เกิดแรงเสียดทานได้มากกว่า แต่ก็ต้องทำใจกับคราบในร่องซึ่งต้องทำความสะอาดมากกว่า รวมทั้งเลือกที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างสีของกำแพงกับพื้นได้ หากจำเป็นต้องมีธรณีประตูไม่ควรเกิน 2 เซ็นติเมตร
นอกจากนี้ ภายในห้องน้ำต้องแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน ระหว่างส่วนพื้นที่เปียก และส่วนที่แห้ง เช่น บริเวณที่อาบน้ำ อ่างล้างมือ เป็นส่วนพื้นที่เปียก และบริเวณชักโครกเป็นส่วนพื้นที่แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลื่นในห้องน้ำ แต่หากห้องน้ำไม่ได้แยกสัดส่วนเปียกส่วนแห้งไว้ สามารถแก้ได้โดยใช้ถาดรองอาบน้ำ หรือฉากกั้น ทั้งนี้แนะนำว่าสามารถติดเทปสองหน้าปิดใต้ผ้าเช็ดเท้ากับพื้นห้องน้ำ จะช่วยไม่ให้ผ้าเช็ดเท้าเลื่อนเวลาเหยียบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการลื่นไถลจากผ้าได้
3.ชักโครก...สะดวก ลุกนั่งสบาย
ควรเลือกชักโครกนั่งห้อยขาแทนแบบนั่งยอง และมีระดับไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อการลุกนั่งที่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีความสูงจากพื้นที่ประมาณ 45 เซ็นติเมตร มีพนักพิง ที่ปล่อยน้ำควรเป็นชนิดก้านโยกปล่อยน้ำที่ด้านข้างหม้อเก็บน้ำ ปุ่มกดน้ำชักโครกต้องเอื้อมถึง และใช้งานได้ง่าย ที่ใส่กระดาษชำระควรใช้มือข้างเดียวดึงได้ และติดตั้งในตำแหน่งที่หยิบใช้ได้ง่าย ติดตั้งปุ่มกดกริ่งฉุกเฉินในระยะที่เอื้อมถึง และสูงจากพื้น 90-100 เซ็นติเมตร ติดตั้งราวจับข้างโถส้วม เพื่อช่วยพยุงตัวขณะที่จะนั่ง หรือลุกจากโถส้วม
4.อ่างล้างหน้า ล้างมือ...คล่องตัวได้ระดับ
การติดตั้งควรสะดวกสำหรับผู้สูงอายุที่นั้งเก้าอี้ล้อ สามารถสอดขาเข้าไปได้ โดยด้านติดผนังถึงขอบอ่างควรเป็นที่ว่าง และควรสูงจากพื้นประมาณ 75 เซ็นติเมตร หรือติดตั้งโดยวัดจากขนาดเก้าอี้ล้อของสมาชิกในบ้าน ก๊อกน้ำควรเป็นชนิดก้านโยก ก้านกดหรือก้านหมุน บริเวณอ่างควรมีราวจับ 2 ด้าน เพื่อช่วยในการทรงตัว ชั้นหรือตู้ลอยต้องไม่สูงเกินเอื้อม
5.ลูกบิดประตู...สิ่งเล็กๆ ไม่ควรมองข้าม
ควรเลือกแบบที่มีก้านจับไม่ลื่นหลุดได้ง่าย และควรใช้กลอนในห้องน้ำที่สามารถเปิดจากข้างนอกได้ เพื่อให้คนภายนอกสามารถเปิดเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ในกรณีที่เกิดอันตรายในห้องน้ำ
นอกจากความปลอดภัยของสภาพที่อยู่อาศัยแล้ว อย่าลืมมอบความรัก เอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ ชวนไปออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ของทุกคนในครอบครัวค่ะ
เรื่องโดย : เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : คู่มือบ้านใจดี "Universal Design Home"