Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

ออกกำลังกายสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์

 

ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึง 44 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มเป็น 135 ล้านภายในปี 2050

เตือนป้องกันอัลไซเมอร์ตั้งแต่หนุ่มสาวช่วยได้ แนะนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกาย พบช่วยสมรรถภาพสมองดีกว่า เผยอาหารเสริมยังไม่พบข้อมูลบำรุงสมองได้จริง

นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง ซึ่งเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น 

นอกจากนี้ โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ รวมถึงมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน น้ำหนักตัวเกิน อ้วน สูบบุหรี่ ยังส่งผลด้วย 

โดยโรคนี้พบมากในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 6-8 และโรคจะรุนแรงเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้อายุน้อยกว่า 65 ปี ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ โดยอาจเกิดจากอุบัติเหตุที่สมอง เนื้องอกที่สมอง เป็นต้น

นพ.วีรศักดิ์ กล่าวว่า คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ อาการเริ่มแรกจะพบว่า ความจำระยะสั้นไม่ค่อยดี ส่วนความจำในเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วยังดีอยู่ หรือพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ถามซ้ำๆ ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง เช่น เคยสามารถขับรถ เคยซื้อของนอกบ้านได้ก็กลายเป็นทำไม่ได้ เพราะว่าคิดอ่านไม่ได้

 

นอกจากนี้ เนื่องจากโรคนี้เป็นช่วงที่อายุเยอะแล้ว จึงทำให้มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม และอารมณ์ตามา เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย หวาดระแวง เป็นต้น 


หากพบอาการเหล่านี้ขอให้ระวังและรีบมาพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นระยะเริ่มแรกของสมองซึ่งพบได้ 70 ใน 100 คน ที่กลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองเท่านั้น

อยากให้คนที่มีความเสี่ยงมาตรวจสุขภาพ ถ้าวินิจฉัยเร็วจะดี เพราะใน 5-10 คน ของคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมมีบางภาวะที่แก้ไขได้ เช่น โพรงสมองคั่งน้ำ มีน้ำในสมองเยอะ รักษาโดยการผ่าตัดก็ช่วยได้  หรือเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เกิดจากการขาดสารอาหารบางตัว การติดเชื้อในสมอง ยังสามารถรักษาให้คนไข้อาการดีขึ้นได้”

นพ.วีรศักดิ์ กล่าว สำหรับการป้องกันต้องทำตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพราะถ้ามาทำตอนอายุมากแล้วก็อาจจะไม่ค่อยได้ผล โดยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายชนิดแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ประมาณ 40 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง 

ซึ่งจากการวัดสมรรถภาพของสมองในผู้ที่ออกกำลังกายเป็นเวลา 6-12 เดือนพบว่า ดีขึ้นกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันเยอะ และหันมารับประทานผัก ผลไม้ เนื้อปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาสวาย ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีให้มากขึ้น ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินชนิดต่างๆ เพื่อบำรุงสมอง


CR: สสส.