อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี
อาการนี้เป็นที่น่ารำคาญแก่ผู้ป่วย และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์หลายคนบ่อย ๆ เนื่องจากไม่หายเสียที ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ
สิ่งสำคัญในการรักษา คือต้องหาสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังให้พบ และรักษาตามสาเหตุ อาการผู้ป่วยถึงจะหาย และมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นอีก
การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรัง จำเป็นต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจจมูก ไซนัส ช่องคออย่างละเอียด ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจจมูก ไซนัส ช่องคอ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังที่ถูกต้อง
สาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรัง
1.โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
โรคนี้เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นทำให้เยื่อบุจมูกบวม ทำให้คัดจมูกเรื้อรัง ต้องอ้าปากหายใจ ทำให้เยื่อบุลำคอแห้ง มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนี้โรคนี้ยังทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอ ระคายคอตลอดเวลา ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
2.โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
โรคนี้จะทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้ต้องหายใจทางปากตลอด เกิดเยื่อบุลำคอแห้ง มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้
นอกจากนั้นสารคัดหลั่งจากไซนัส และจมูกที่อักเสบที่ไหลลงคอ จะทำให้มีอาการอักเสบ ระคายเคืองของผนังคอ ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
3.การติดเชื้อของลำคอ และต่อมทอนซิลเรื้อรัง
เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่รับประทาน หรือมีแหล่งของเชื้อโรคอยู่ในช่องปาก เช่น มีฟันผุ หรือโรคเหงือก
นอกจากนั้นการติดเชื้อบางชนิดอาจทำให้เจ็บคอเรื้อรังได้ เช่น การติดเชื้อราบางชนิด เชื้อวัณโรค เชื้อโรคเรื้อน หรือเชื้อซิฟิลิส อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อดังกล่าวนี้พบได้น้อย
4.โรคผนังช่องคอ และสายเสียงอักเสบเรื้อรัง
จากการระคายเคืองจากการสัมผัสกับฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด หรือเกิดจากการใช้เสียงผิดวิธี หรือเกิดจากการไอเรื้อรัง ทำให้มีการกระแทกกันของสายเสียง และมีการใช้กล้ามเนื้อของผนังคอมากเกินไป
5.โรคกรดไหลย้อน
ซึ่งกรดอาจไหลย้อนขึ้นมาที่ผนังคอ ทำให้เยื่อบุและกล้ามเนื้อของผนังคอมีการอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนติด กลืนลำบาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลาร่วมด้วย
6.โรคเนื้องอกของคอและกล่องเสียง
เนื้องอกอาจไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยมักมีอาการ กลืนลำบาก น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาจมีเสมหะปนเลือด หรือปวดร้าวไปที่หูได้
7.โรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคอ (neuralgia)
เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9(glossopharyngeal nerve)ซึ่งอาจมีการกระตุ้น หรือการระคายเคืองของเส้นประสาทดังกล่าว ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆได้อาการปวดมักจะเริ่มจากผนังคอ แล้วร้าวไปยังหู คอ และศีรษะนานเป็นวินาที มักกระตุ้นโดยการกลืน การหาวนอน การเคี้ยว และการไอ
8.สิ่งแปลกปลอม
เช่น ก้างปลา กระดูกชิ้นเล็กที่คาอยู่ในผนังลำคอ ต่อมทอนซิล หรือโคนลิ้น เป็นระยะเวลานาน จะทำให้บริเวณดังกล่าวอักเสบเกิดการติดเชื้อ ทำให้เจ็บคอเรื้อรังได้ อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้น้อย
การรักษาอาการเจ็บคอเรื้อรัง
รักษาตามสาเหตุ ควรปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสจัด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ
โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก น้ำเกลืออุ่น ๆ หรือน้ำเปล่าหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากการที่ไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี อาจมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ ทำให้เจ็บคอมากขึ้นได้
จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บคอเรื้อรัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นโรคของจมูก ไซนัส ลำคอ กล่องเสียง หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร และพยาธิสภาพ เป็นได้ตั้งแต่โรคธรรมดาที่ไม่อันตราย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
จนถึงโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของคอและกล่องเสียง ดังนั้น อย่านิ่งดูดาย ถ้ามีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว
ที่มา : รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล