Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

การวินิจฉัยอาการสมองเสื่อม

ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะหากยิ่งทำการวินิจฉัยได้ช้า ก็จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงได้มากขึ้น และมีโอกาสรักษาได้ยากมากยิ่งขึ้นด้วย


ในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจะเริ่มต้นจาก

1. ประวัติของผู้ป่วย หลายครั้งญาติจะให้ข้อมูลเพียงสั้นๆว่าผู้ป่วยมีอาการขี้หลงขี้ลืม หรือลืมบ่อยๆ ขณะที่ทางการแพทย์ต้องการที่จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของการลืมแบบละเอียด เนื่องด้วยการลืมบางครั้งก็เป็นลักษณะของคนปกติทั่วไป แต่ลักษณะของการลืมที่มีราบละเอียดหลายแบบ 

อาจบ่งบอกว่ามีอาการลืมแบบผิดปกติได้ เช่น การลืมแบบหมดจด อย่างการไปเที่ยวหลายวัน แล้วมีคนมาถามย้ำว่าผู้ป่วยไปไหนมา ผู้ป่วยอาจจะจดจำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้น ประวัติจึงมีความสำคัญที่สุด ที่จะทำให้รู้จุดเริ่มต้นของอาการและลำดับของอาการ สำหรับผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย 

ซึ่งผู้ที่พามาก็จะไม่ค่อยรู้ว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไรหากคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไม่ได้พาผู้ป่วยมาหาแพทย์ ก็แนะนำให้เขียนอาการผู้ป่วยนอกจากประวัติการลืมแล้ว 

การวินิจฉัยที่ดีก็ยังต้องการที่จะทราบข้อมูลเกี่ยวกับการบอกประวัติโรคประจำตัวและโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

2. การตรวจร่างกาย แพทย์จะต้องตรวจร่างกายดูว่า ผู้ป่วยมีความผิดปกติอื่นๆหรือไม่ เพราะหลายครั้งอาจปรากฏความผิดปกติอื่นๆขึ้นมา ซึ่งทำให้รับรู้ถึงสาเหตุอาการได้ง่ายขึ้น 

รวมทั้งต้องทดสอบสมรรถภาพสมองโดยที่จะทำการทดสอบด้วยการถามคำถาม 10 ข้อ เพื่อทดสอบสมรรถภาพสมองเบื้องต้น

3. ทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจเช็คว่า ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคอื่นๆแทรกซ้อน ซึ่งทำให้ความสามารถของสมองบกพร่องไป เช่น ไทรอยด์ทำงานต่ำไปสูงไป ขาดสารอาหารบางอย่างที่ออกอาการสมอง เป็นต้น

4. ทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ในผู้ป่วยที่คาดว่าน่าจะมีภาวะความสามารถสมองบกพร่องหรือสมองเสื่อม ซึ่งเกิดขึ้นจากหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่สงสัยนั้นเป็นจริงหรือไม่ และมีพื้นที่ที่เสียหายหรือเปล่า 

เกิดความเสียหายมากน้อยระดับใด อธิบายอาการของผู้ป่วยได้หรือไม่ สำหรับเรื่องของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำการเอกซเรย์สมองเสื่อมทุกราย เพราะทางแพทย์อาจให้การวินิจฉัยสมองเสื่อมได้ตั้งแต่การซักประวัติแล้วว่าเป็นอะไร

นอกจากนี้การตรวจสอบอื่นๆทางการแพทย์จะดูบริบทโดยรวมเพื่อวิเคราะห์ว่าอาการต่างๆมีสาเหตุจากอะไรเป็นหลักและสาเหตุนั้นจะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลอย่างไรได้ 

ฉะนั้น ต้องย้ำว่า การบอก “ประวัติ” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่พาผู้ป่วยมาพบแพทย์จะต้องมีความพิถีพิถัน ข้อมูลที่ดีที่จะช่วยทำให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยได้อย่างเหมาะสม



เรื่องโดย อ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์