Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

เตือนภัย

ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึง 8 ล้านคน

 

และมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี มีผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 8,000 รายต่อปี

 

ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวานหรือความดันเลือดสูง หากมีการดูแลตนเองด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และใช้ยาอย่างเหมาะสมจะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้

 

แต่ในจำนวนผู้ป่วย 5-10 % เกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง ไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ อาจเพราะเชื่อว่าการกินยามากๆจะไปกระเทือนไต หรือเกิดความเบื่อหน่ายในการกินยา

 

ส่วนการดูแลและป้องกันปัญหาโรคไต ยึดหลัก 4 ควรเพื่อถนอมไตคือ ควรกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ควรสอบถามจนเข้าใจถึงยาที่กินอยู่ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นโรคอะไร และควรมีรายชื่อยาที่ใช้อยู่เป็นประจำพกติดตัวไว้เมื่อมาพบแพทย์ 

 

ส่วนหลัก 4 ไม่ควรเพื่อป้องกันผลเสียของยาต่อไต คือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาบำรุงอาหารเสริมมากินเอง ไม่ควรหลงใหลในคำชวนเชื่อหรือคำโฆษณาในการกินยาที่ไม่รู้จัก

 

และไม่ควรกินยาของผู้อื่น โดยเชื่อว่าจะใช้ได้ผลดีเหมือนกันกับเรา ซึ่งหากใช้ยาได้ถูกต้อง สมเหตุผล ปัญหาเรื่องไตก็จะลดลงมาก

 

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กพย. และเครือข่ายเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นมีการแก้ไขปัญหาดังนี้

 

1) เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยากับปัญหาการเกิดโรคไตผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชนและสังคมที่เป็นเรื่องปลายน้ำ

 

2) จัดทำข้อมูลเพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอมปนสเตียรอยด์หรือเอ็นเสด

 

3) ในเรื่องต้นน้ำ จำเป็นต้องมีการทบทวนทะเบียนตำรับยา ถอนทะเบียนยาที่ไม่มีประสิทธิผลหรือที่ไม่เหมาะสมเป็นอันตราย หรือจัดประเภทยาใหม่ เช่นยาต้านอักเสบชนิดฉีด ต้องปรับให้เป็นยาควบคุมพิเศษ

 

4) จัดระบบเฝ้าระวังโรคไต โดยการ scan หรือระบบตรวจคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงต่อโรคไตทั้งใน โรงพยาบาลและในชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ กำหนดวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

 5) การจัดระบบการควบคุมการกระจายยากลุ่มเสี่ยงทั้งยาชุด ยาตำรับไม่เหมาะสมให้เข้มงวดมากขึ้น ให้สามารถติดตามได้ว่าทำไมยาจึงออกจากโรงงานผลิต ไปอยู่ในยาชุดขายในชุมชนได้อย่างไร

 

6) ในการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมของบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำเป็นต้องนำฐานข้อมูลการใช้ยาที่มีอยู่เพื่อชี้เป้าปัญหาการใช้ยา ลดปัญหาการจ่ายยาเอ็นเสดซ้ำซ้อน

 

รวมทั้งการเฝ้าระวังปัญหากรณีผู้ป่วยที่เกิดโรคไตจากการใช้ยาเข้ามารักษา

 

 

ที่มา: www.bangkokbiznews.com