Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

สะโพก เข่า อวัยวะยอดฮิต ของโรคข้อเข่าเสื่อม

โดยอวัยวะที่มักมีอาการปวดบวมส่วนใหญ่ มักเป็นบริเวณข้อที่ใช้รับน้ำหนักมาก หรือเคลื่อนไหวมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อกระดูกคอ

 

แต่ที่มากที่สุด เห็นจะเป็น ข้อเข่า ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการกดกระแทกอยู่เป็นประจำ ส่วน ข้อสะโพก ก็เป็นข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกราน และกระดูกต้นขา ที่ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายในขณะยืน เดิน วิ่ง นั่ง และนอน ที่หากผ่านการใช้งานนานๆ อาจเกิดการสึกหรอได้

 

อาการของโรคข้อเสื่อม ที่พบบ่อย คือ มีอาการปวดตามข้อบริเวณต่างๆของร่างกาย เช่น คอ ไหล่ หลัง เอว แขน มือ เข่า และเท้า มีเสียงหรือเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหวข้อ

 

มีอาการบวมแดง ร้อนบริเวณข้อ รู้สึกขัด ตึง หรือเจ็บปวดบริเวณข้อ เมื่อปรับ เปลี่ยนท่าหลังจากอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เช่น นั่งคุกเข่า หรือขัดสมาธิ มีอาการปวดข้อ ตึง หรือขัด แบบเป็นๆ หายๆ

 

นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผอ.ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ หรือ “Bangkok Hip & Knee Center” โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า

 

ในกรณีของข้อเข่าหากมีอาการมาก บางคนถึงขั้นเดินกะเผลก ข้อเข่าโก่ง เดินขัดๆ ในบางรายเวลาเคลื่อนไหวเข่าจะได้ยินเสียงกระดูกลั่น หรือบางครั้งถ้ามีอาการมาก อาจรู้สึกร้อน บวม และปวดมากขึ้น
 

“สาเหตุหลักของโรคข้อเข่าเสื่อม มาจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนบุข้อ ที่เกิดจากการใช้งานหนัก เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของข้อต่อตามอายุและการใช้งาน ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ”

 

ส่วนข้อสะโพกเสื่อม คุณหมอวัลลภ บอกว่า เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานมานาน กรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อน

 

อาการปวดสะโพกมีสาเหตุหลายอย่าง ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเดินในระยะไกลได้ เพราะปวดถ่วงที่บริเวณก้น และต้นขาด้านหลัง

 

ซึ่งในกรณีนี้ อาจมีสาเหตุจากช่องทางเดินของเส้นประสาทในกระดูกสันหลังแคบลงกว่าปกติมาก ทำให้หลอดเลือดที่ถุง เส้นประสาท และเส้นประสาทถูกบีบรัด

 

ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดที่สะโพก เพราะมักจะปวดบริเวณง่ามขาด้านหน้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง เหมือนโรคกระดูกสันหลัง ที่สำคัญสามารถปวดในเข่าด้านในโดยเกือบไม่รู้สึกปวดที่สะโพกเลย

 

ซึ่งอาการเหล่านี้ จะรู้ได้ก็เมื่อหมั่นสังเกตอาการตัวเอง และสงสัยว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที

 

ผอ.ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ ยังบอกอีกว่า การผ่าตัดเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่ามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าได้รับการยอมรับ

 

และโดยทั่วไปแล้ว เมื่อได้รับการผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาข้อสะโพก และข้อเข่ามาแล้วยังมีอาการปวดอยู่ และเข้าใจผิดไปว่าอาการปวดเกิดจากการผ่าตัด

 

ยังบอกด้วยว่า อาการที่ผู้ป่วยควรทราบหลังรับการผ่าตัดรักษาแล้ว คือ อาจมีอาการบวมตึงอุ่นๆ ปวดบ้างนานประมาณ 3-6 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะยุบบวมกลับมาปกติใน 2-3 เดือน

 

โดยเฉพาะผู้ป่วยที่บริหารฟื้นฟูข้อตามคำแนะนำอย่างดีจะฟื้นตัวเป็นปกติได้เร็ว ที่เห็นชัดเจนคือ เดินได้โดยไม่เจ็บ มีกำลังมากขึ้น งอเหยียดเข่าได้ดีขึ้น

 

สำหรับผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดข้อสะโพกควรระวังตัวไม่เคลื่อนไหวข้อสะโพกมากเกินไปจนทำให้ข้อสะโพกหลุดออกจากเบ้า เช่น ระวังไม่นั่งต่ำจนเกินไป ระวังไม่งอสะโพกชันเข่าเกิน 90 องศา ไม่บิดเข่า และปลายเท้าเข้าด้านในหรือนอกมากเกินไป ควรนอนอยู่บนเตียงแล้วบิดตัวท่อนบนไปอีกทาง จะช่วยลดอาการปวด และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรใส่ใจ คือ อย่าละเลยอาการปวดข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า และข้อสะโพก ซึ่งเป็นอวัยวะที่รองรับการทรงตัวของร่างกาย เมื่อเริ่มมีอาการปวด หรือผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อถนอมรักษาข้อเข่า ข้อสะโพกให้อยู่กับเราไปได้นานที่สุด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.thairath.co.th