อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี
พร้อมที่จะเรียนรู้การที่เราจะเล่าเรียนหรือทำการงานใดๆ ให้สำเร็จ เราจำเป็นต้องมีสมาธิจดจ่อในการทำสิ่งนั้นเราจึงจะเข้าใจบทเรียนและสามารถใช้ความคิดในการทำงานให้สำเร็จ
คนบางคนมีพื้นฐานสมาธิดีแต่กำเนิด แต่กระนั้นสมาธิของคนเราก็อาจไม่คงที่ ในบางช่วงเวลา เราอาจไม่มีสมาธิในการเรียน เพราะเราหมกมุ่นกับเรื่องอื่นๆ จนกระทั่งลืมจดจ่อกับงานตรงหน้า หรือเราชอบทำหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ไม่มีจิตใจจะจดจ่อกับการเรียน และแม้ว่าเราจะมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะอ่านหนังสือ แต่เมื่อมีเสียงดังรบกวน เราก็จะเริ่มหงุดหงิด ไม่สามารถอ่านหนังสือต่อไปได้
แม้ว่าสมาธิของคนเราจะไม่คงที่ แต่เราก็สามารถฝึกฝน และพัฒนาได้ด้วยตัวเราเอง ซึ่งจะเป็นคุณสมบัติภายในที่มีค่า ที่ช่วยส่งเสริมให้เราเป็นคนที่เก่ง มีความสามารถ และมีอนาคตที่ดี
การที่เราจะมีสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ นั้น เราสามารถสร้างและพัฒนาได้ ทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในตัวเรา ปัจจัยทั้งสองด้านนี้มีความสำคัญพอๆ กัน และสามารถเกื้อหนุนให้เกิดความสงบ ความพร้อม การมีสมาธิต่อเนื่อง และความมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จ
ปัจจัยภายนอก คือ ด่านแรกของการมีสมาธิที่เราทำได้ไม่ยากนัก หากเราจัดสิ่งแวดล้อมขณะเรียนรู้ให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่สงบ ไม่สับสนวุ่นวาย ย่อมเอื้อให้เราสามารถใส่ใจ และจดจ่อกับงานตรงหน้าได้ง่ายขึ้น
สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสมาธิ ได้แก่
- หาสถานที่สงบ ปราศจากเสียงรบกวนในการศึกษาหาความรู้
- หลีกเลี่ยงแสงสว่างที่เจิดจ้าแยงตา หรือแสงที่ริบหรี่ ในขณะที่อ่านหนังสือ
- เตรียมอุปกรณ์ในการทำงานให้พร้อม จัดวางให้ครบ และเป็นที่เป็นทาง ให้พร้อมใช้โดยไม่จำเป็นต้องลุกเดินไปหยิบจากที่อื่นจนทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง
- เลือกเวลาดูหนังสือในขณะที่ร่างกายกระปรี้กระเปร่า เช่น การอ่านหนังสือในช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ และสมองปลอดโปร่ง ย่อมมีสมาธิดีกว่าอ่านหนังสือในช่วงดึกที่ร่างกายอ่อนล้าแล้ว
ปัจจัยภายใน คือ สุขภาพร่างกายและจิตใจ และอุปนิสัยในการทำงาน
สุขภาพร่างกายและจิตใจ
สุขภาพร่างกายและจิตใจคือ อุปกรณ์ในการเรียนรู้ เราย่อมไม่สามารถใส่ใจหรือจดจ่อกับการทำงานได้ หากเรารู้สึกไม่สบายกาย หรือจิตใจไม่สดชื่นแจ่มใสพอ เราควรเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมใช้ในการเรียนรู้ โดย
- รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
- รักษาร่างกายให้แข็งแรงและกระปรี้กระเปร่าอยู่เสมอ โดยนอนพักผ่อนให้พอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง และจัดเวลาออกกาลังกายให้ร่างกายแข็งแรง ฝึกทำสิ่งเหล่านี้ จนเป็นนิสัย
- รักษาสภาพจิตใจ และฝึกพัฒนาอารมณ์ตนเองให้แจ่มใสอยู่เสมอ ควรเรียนรู้วิธีการคลายความเครียดและความกังวล เช่น การพูดคุยกับคนที่ไว้วางใจ และมีงานอดิเรกผ่อนคลายความเครียด
- สร้างแรงจูงใจในการเรียน ด้วยการนึกถึงประโยชน์ และคุณค่าจากการเรียนรู้สิ่งต่างๆ วาดภาพความสำเร็จ และเป้าหมายการศึกษาในอนาคต แล้วบอกตัวเองให้มุ่งมั่นตามเป้าหมายนั้น
อุปนิสัยในการทำงาน
การทำงานได้สำเร็จ เราต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานนั้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะทำเช่นนี้ได้เพราะเรามีวินัยในการทำงาน การฝึกฝนตัวเองให้มีวินัยในการทำงานก็คือ การสร้างอุปนิสัยของความสำเร็จนั่นเอง เราพัฒนาตัวเองให้มีวินัยในการทำงานได้ โดย
- ทำงานด้วยอิริยาบถที่เหมาะสม เช่น ควรนั่งทำงานมากกว่านอนพังพาบในการอ่านหรือเขียนหนังสือ
- ฝึกทำอะไรให้เป็นเวลา และแบ่งเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้อง ลองหัดทำตารางกิจวัตรประจำวันว่า เราจะทำอะไร เวลาใด ตั้งแต่เวลาตื่นนอน ถึงเข้านอน การทำอะไรเป็นเวลา จะทำให้เราไม่เร่งรีบในการทาสิ่งต่าง ๆ และเป็นบ่อเกิดของการมีสมาธิได้ง่าย
- ฝึกนิสัย “มุ่งมั่นลงมือทำทันที” เมื่อคิดจะทำอะไรพยายามลงมือทำทันที อย่าผัดวันประกันพรุ่ง จนกลายเป็นความเกียจคร้าน และตามมาด้วยการทำอะไรไม่สำเร็จ
- จัดลำดับเรื่องที่จะทำ เมื่อจะลงมือทำสิ่งใด ควรตั้งสติ และพิจารณาว่า เราควรทำเรื่องใดก่อนหลัง ตามความสำคัญ หรือความเร่งด่วนของงานนั้น แล้วลงมือทำให้สำเร็จทีละเรื่อง ดีกว่าทำหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้ยิ่งเสียสมาธิ
การฝึกฝนเหล่านี้ ถ้าน้องๆ เริ่มลงมือฝึกทันที ก็จะพบว่า ไม่ใช่สิ่งที่ยากที่จะทำ หากน้องคนใดบอกว่า “ยาก ทำไม่ได้หรอก” มันอาจจะยากก็ตรงที่เราไม่ได้ลงมือกระทำสักที และปล่อยให้ความขี้เกียจมาครอบงำชีวิตเรา การฝึกสร้างสมาธิจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการสร้างอุปนิสัยการเป็นผู้ชนะ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการชนะใจตนเองนั่นเอง
เรื่องโดย : รวิวรรณ ศรีสุชาติ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
ที่มา : เว็บไซต์สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์