Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

เส้นเลือดสมองเปราะแตกในเด็ก

บางคนบอกว่าอย่าไปโอ๋ ไปเอาใจมากเดี๋ยวจะเคยตัวเสียหมด นั่นเป็นความคิดที่ผิดไปอย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะเป็นการบ่มเพาะความกลัวให้กับลูกน้อยแล้ว 

 

ภัยร้ายแรงกว่านั้นที่ทุกคนมองข้ามคือ “เส้นเลือดในสมองเปราะแตกในเด็ก” ซึ่งมีโอกาสนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรารู้กันดีว่าภาวะเส้นเลือดในสมองแตกนั้นเกิดในผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง แต่ไม่เคยทราบเลยว่าแท้จริงแล้วโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก ๆ จนกว่าจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว ต่อภาวะของโรคนี้ 

 

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ อธิบายว่า เส้นเลือดในสมองแตกในเด็กเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดใน 2 ลักษณะคือ

 

เส้นเลือดโป่งพองแต่กำเนิด และเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำผิดปกติแต่กำเนิด ที่อยู่ ๆ ก็ทำให้มีเลือดออกในสมองโดยที่ไม่มีแรงกระทบกระแทกหรือว่ามีปัจจัยอื่นมาเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งพบได้เรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าอัตราการเกิดอยู่ที่เท่าไหร่

 

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคนั้นไม่สามารถบอกได้แน่ชัด เพราะการสร้างตัวเองของเส้นเลือดของเด็กไม่สมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

 

แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลครรภ์ของมารดาไม่ดี และไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมจึงเป็นความยากลำบากที่จะทำการคัดกรอง

 

โรคดังกล่าวได้ ทำได้อย่างเดียวคือการสังเกตเด็กที่งอแงผิดปกติ ประกอบกับมีอาการคอแข็งก้มไม่ลง ก้มแล้วเจ็บ แข็งตึง มีไข้หรืออาเจียน ชัก ถ้าโคม่าเด็กจะไม่รู้สึกตัว 

 

โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่สามารถพูดได้อาจจะต้องสังเกตอาการพวกนี้ร่วมด้วย อย่าชะล่าใจว่าเด็กงอแงเป็นเรื่องธรรมดาอย่างเดียว

 

อาการปวดหัวในเด็กมีหลายสาเหตุ ตั้งแต่การเป็นไข้ธรรมดา การติดเชื้อในสมอง เลือดออกในสมอง เป็นต้น แต่ภาวะเส้นเลือดในสมองเปราะแตกในเด็กไม่ได้เกิดจากความเครียด

 

เพราะความดันในเด็กยังไม่สูงพอ นอกเสียจากว่าเด็กคนนั้นจะเป็นโรคความดันมาตั้งแต่กำเนิด 

 

ภาวะนี้เหมือนกับภาวะพิการตั้งแต่กำเนิด อยู่ ๆ ก็เลือดออก โดยไม่ต้องมีปัจจัยกระตุ้น ยิ่งถ้าเลือดออกในจุดสำคัญ ๆ จะไปกดสมองทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

 

ถ้าผ่าตัดทันก็สามารถฟื้นตัวได้ แต่ถ้าผ่าตัดไม่ทันก็เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตถาวร แม้ว่าโรคนี้นาน ๆ ถึงจะเจอที แต่ก็พบได้บ่อยเช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในความโชคร้ายยังมีโชคดีเพราะเส้นเลือดสมองแตกในเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะสมองของเด็กมีการสร้างตัวเองได้เร็วมาก

 

ถ้าเกิดเส้นเลือดแตกครั้งแรกจะไม่เสียชีวิต หรือมีอัตราการเสียชีวิตน้อย ประมาณร้อยละ 30 และที่ผ่านมาเด็กมาพบแพทย์หลังเกิดเหตุการณ์ครั้งแรกเป็นส่วนมาก 

 

แพทย์จะเจาะหลังดูเลือด ฉีดสีดูเลือด หรือซีที เห็นและผ่าตัดแก้ไข แต่ถ้าแตกครั้งที่ 2 อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ร้อยละ 60 ตรวจร่างกายธรรมดาจะไม่สามารถทราบได้ คอแข็ง มีไข้ขึ้นนิดหน่อย

 

ถ้าเด็กโตหน่อยจะบอกปวดหัวมาก แต่ถ้าเส้นเลือดในสมองแตกครั้งที่ 3 อัตราการเสียชีวิตที่เท่ากับร้อยละ 100

 

เช่นนั้นแล้ว เมื่อลูกน้อยร้องไห้งอแง ก็ขอให้เอาใจใส่เขาให้มาก ลืมความคิดที่ว่าจะทำให้เด็กเคยตัวไปเสีย คอยสังเกตอาการ ปลอบประโลมเขา

 

ถ้าไม่ได้เป็นโรคอย่างที่กลัวกันถือเป็นลาภอันประเสริฐ แถมสิ่งที่ได้กลับมายังเป็นยาดีสำหรับลูกน้อยด้วยซ้ำไป.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา