Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

จะทำอย่างไร เมื่อคุณรู้ว่า “ไขมันในเลือดสูง”

โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันและโรคอัมพาต โรคดังกล่าวมีสาเหตุจากการที่หลอดเลือดแข็งตัว (atherosclerosis) และหลอดเลือดตีบตันซึ่งพบได้เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น

 

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัว เราสามารถควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ไม่ยาก

 

โดยเฉพาะถ้าเริ่มป้องกันหรือรักษาตั้งแต่อายุประมาณ 35-40 ปี จะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและโรคอัมพาตในวัยชราได้อย่างมาก

 

การตรวจสารต่าง ๆ โดยทั่วไปการตรวจไขมันในเลือด จะตรวจสารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

1.โคเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นส่วนสำคัญของไขมันความหนาแน่นต่ำ โคเลสเตอรอลเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองและได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป

 

โคเลสเตอรรอลเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัวและตีบตันสาร โคเลสเตอรอลนี้จะมีมากในไขมันสัตว์ ระดับปกติในโลหิตไม่ควรเกิน200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

 

และถ้าพบว่าสูงมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรควบคุมและรักษา จากการศึกษาพบว่า ถ้าลดระดับโลเลสเตอรอลลงได้1% จะทำให้โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบลดลงถึง 2%

 

2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ไขมันส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ในร่างกาย ในคนอ้วนระดับไตรกลีเซอไรด์มักจะสูงได้บ่อย ๆ

 

ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าไขมันตัวนี้เป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ถ้าพบว่ามีระดับสูงมาก หรือพบว่าสูงในคนที่มีโคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่าโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบเพิ่มขึ้น จึงควรรักษา

 

3. เอชดีแอล (High density lipoprotein-HDL) เป็นไขมันที่มีความหนาแน่นสูง มีหน้าที่จับไขมันโคเลสเตอรอลจากเซลล์ของร่างกายออกไปทำลายที่ตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDL นี้สูง

 

จะมีผลทำให้โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดลดลง โดยเฉพาะถ้าระดับ HDL สูงเกิน 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร HDL จะสูงจากการออกกำลังกายและจากยาลดไขมันบางชนิด

 

เมื่อท่านตรวจพบไขมันในเลือดสูงโดยระดับโคเลสเตอรอลสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจดับหรืออุดตัน

 

โรคนี้เป็นโรคที่เป็นกันมากขึ้นและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน ดังนั้นจึงขอแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อลดปริมาณไขมันโคเลสเตอรอลในเลือดดังนี้

 

 

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตน

 

การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงเป็นกุญแจในการลดไขมัน ดังนั้นท่านจึงควรทราบว่าในอาหารแต่ละชนิดมีปริมาณไขมันโคเลสเตอรอลเท่าไรด้วย

 

1. ลดน้ำหนักตัวถ้าท่านอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน โดยลดปริมาณอาหารและออกกำลังกาย อาหารที่มีไขมันสูงที่ท่านควรหลีกเลี่ยง เช่น ไข่แดง, ไข่นกกระทา เครื่องในสัตว์  เนื้อสัตว์ส่วนที่ติดมันทุกชนิด สมองสัตว์ อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก ฯลฯ

 

2. เครื่องดื่มจำพวกเบียร์ ขนมหวาน แป้งข้าวต่างๆ จะสะสมเกิดเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้

 

3. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอดเจียว ควรใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น เนย น้ำมันหมู น้ำมันพืชที่สกัดจากเมล็ดพืช จะมีกรดไลโนเลอิกที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลไปเผาพลาญสูงกว่าน้ำมันที่สกัดจากเนื้อพื

 

4. ควรเพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใยและกาก เช่น คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยอาหารมากขึ้น กากใยเหล่านี้จะช่วยให้การดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง

 

5. พยายามเปลี่ยนแปลงวิธีปรุงอาหารเป็นการนึ่ง ต้ม ย่าง อบ แทนการทอดหรือผัด

 

6. นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง หากจะดื่มควรใช้นมพร่องมันเนยแทนนมสด

 

เมื่อเราไม่สามารถงดการรับไขมันจากอาหาร หรือหยุดการสร้างของร่างกายได้ ก็ยังมีวิธีการช่วยเผาพลาญไขมันได้ คือ การออกกำลังกาย

 

เพื่อให้มีผลต่อการเผาพลาญพลังงาน และลดปริมาณไขมันในเลือดนั้น ต้องเป็นการออกกำลังที่สม่ำเสมอ มีการต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง

 

สำหรับการออกกำลังที่ดีที่สุดเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจคือ การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ การขี่จักรยาน แต่ถ้าหากคุณมีอาการของโรคหัวใจอยู่แล้ว หรือมีอายุมากกว่า 40 ปี

 

ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรออกกำลังกายชนิดใดและมากน้อยเพียงไรจึงจะเหมาะสมสำหรับท่าน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์อย่างเดียวโดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล