Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

“ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” รู้เท่าทันก่อนโรคลุกลาม

ไม่ละเลยมองข้ามความผิดปรกติที่เกิดขึ้นนับแต่เบื้องต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากความเจ็บป่วย

 

โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก หรือ Juvenile Iidiopathic arthritis (JIA) ภัยสุขภาพสร้างความทรมานให้กับเด็กเมื่อมีอาการปวดข้อ ข้อบวม ข้ออักเสบ ฯลฯ และในบางรายที่มีอาการข้ออักเสบมากขึ้นอาจพิการและเสียชีวิตได้ 

 

โรคดังกล่าวเป็นหนึ่งใน กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือที่เรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง หรือ แพ้ภูมิตัวเอง ซึ่ง ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอ

 

หมายถึงภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่เพราะหลังจากที่กำจัดเชื้อโรคไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันยังคงทำงานอยู่จนทำร้ายร่างกายแทนที่จะปกป้อง

 

โรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กก็เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายข้อตัวเองนี้เกิดจากอะไรจึงเรียกโรคนี้ว่า

 

โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กซึ่งเกิดได้กับข้อทุกส่วนของร่างกายไม่เพียงแต่ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก แต่ยังเกิดได้กับกระดูกต้นคอ บริเวณขากรรไกร ฯลฯ

 

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้แนะนำวิธีสังเกตอาการโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กว่า ส่วนมากอาการของข้ออักเสบหรือข้อติดมักจะเกิดตอนเช้าหรือที่เรียกว่า

 

ภาวะ Morning Stiffness หรือในช่วงที่อากาศเย็นซึ่งจะทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมากสังเกตได้จากเด็กเดินกะเผลกหลังจากตื่นนอน

 

เนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับตัว ทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา
แต่พอตื่นนอนแล้วขยับข้อหรือในช่วงที่อากาศอุ่นขึ้น อาการข้อติดก็จะดีขึ้นซึ่งอาการลักษณะนี้อาจทำให้เด็กบางคนไม่สามารถนอนกลางวันหรือนั่งเรียนทั้งวันได้ 
แต่ในบางรายก็อาจมีอาการปวดทั้งวัน 

 

สังเกตได้จากเด็กที่เป็นข้ออักเสบที่ข้อเข่าจะไม่ยอมเดินจะร้องให้อุ้มตลอดเวลา หากเป็นที่สะโพกจะเจ็บเวลาอุ้ม ฯลฯ ผู้ปกครองคุณพ่อ คุณแม่จึงควรสังเกตอาการลูกว่ามีอาการข้อตึงแข็งทำให้ขยับหรือลุกลำบากหรือไม่หรือเดินกะเผลกในช่วงเช้า

 

สังเกตอาการเจ็บปวดต่างๆจากสีหน้าท่าทางของลูก เช่น เจ็บมือหากโดนจับหรือจูงมือ เจ็บขาหรือข้อเท้าเวลาเดิน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีอาการแสดง คือ เป็นไข้สูงวันละครั้งอาจจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ หากเป็นช่วงเย็นมักจะเป็นช่วงเย็นของเวลาเดียวกัน และในช่วงไข้สูงเด็กจะมีอาการซึม แต่พอไข้ลดลงเด็กจะรู้สึกสบายดี

 

ซึ่งต่างจากการติดเชื้อทั่วๆ ไปที่เด็กมักจะไข้สูงตลอดทั้งวัน นอกจากข้ออักเสบแล้วยังอาจจะมีอาการของผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้นและเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไป

 

“ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก โรคนี้อาจจะยากในการวินิจฉัย แต่หากคุณพ่อ คุณแม่ช่วยสังเกตและอธิบายอาการของลูกได้ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

 

ในการสังเกตอาการข้ออักเสบอาจเปรียบเทียบระหว่างข้อข้างซ้ายและข้อข้างขวาหรือเปรียบเทียบกับพี่น้องหรือเพื่อนๆ หากมีอาการข้ออักเสบจะสังเกตได้ถึงข้อที่บวม นูน แดงหรือจับบริเวณข้อที่อักเสบจะรู้สึกร้อนๆ

 

อีกวิธีสังเกตจากบริเวณที่เป็น อาทิ หากเป็นข้ออักเสบบริเวณข้อเข่าให้สังเกตว่าข้อเข่าจะมีรอยบุ๋มเหมือนลักยิ้ม หากรอยบุ๋มหายไปแสดงว่าข้ออาจจะเริ่มบวมหรือมีน้ำในข้อได้

 

หากเป็นที่ข้อเท้าให้สังเกตขณะเด็กนอนคว่ำเท้า ข้อจะอูมขึ้นมาและหากเป็นที่นิ้วมือให้สังเกตว่าเด็กไม่สามารถจับดินสอเขียนหนังสือได้ หรือจะหยิบจับอะไรได้ลำบาก เป็นต้น”

 

โรคข้ออักเสบแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่

 

Systemic onset juvenile idiopathic arthritis (SoJIA) เป็นชนิดที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะมีอาการอยู่ในหลายระบบของร่างกาย โดยเด็กจะเป็นไข้สูงกว่า 2 อาทิตย์ และมีผื่นแดงๆ ที่เรียกว่า ผื่นแซลมอน ขึ้นตามร่างกาย

 

Oligoarticular JIA หรือ pauciarticular JIA ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการข้ออักเสบน้อยกว่า 5 ข้อ แต่อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดตาอักเสบได้มากกว่าชนิดอื่นๆ

 

Polyarticular JIA ที่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมีอาการข้ออักเสบมากกว่า 5 ข้อ ขึ้นไปและมีอาการปวดข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า และเด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้ พอโตขึ้นจะมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

 

Polyarticular JIA ที่ไม่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ การดำเนินของโรคในกลุ่มนี้ จะรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะตาอักเสบได้

 

Enthesitis related arthritis หรือ ERA จะพบอาการข้ออักเสบในตำแหน่งที่มีเส้นเอ็นไปเกาะกับกระดูก เช่น บริเวณส้นเท้า ฝ่าเท้า กระดูกสะบ้า

 

ข้อต่อของกระดูกสันหลังบริเวณเอว เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก โดยมากจะเป็นในเด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ที่คุณพ่อ – คุณแม่ หรือ พี่น้องท้องเดียวกัน มีประวัติป่วยเป็นโรคนี้

 

Psoriatic arthritis หรือ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน จะพบผื่นสะเก็ดเงินร่วมกับอาการข้ออักเสบ ชนิดนี้จะยากต่อการวินิจฉัยพบน้อยในเด็กไทย และ Undifferentiated JIA ข้ออักเสบที่ไม่เข้าพวกกับ 6 กลุ่มข้างต้นซึ่งจัดอยู่ในประเภทนี้

 

การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือด เพื่อหาค่า CBC, ESR และ CRP และสำหรับวิธีการรักษาใช้ยาหลากหลายประเภทที่เหมาะสมกับกลุ่มโรคทั้ง 7 กลุ่ม

 

นอกจากนี้ ผศ.มลรัชฐา ภาณุวรรณากร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อช่วยฟื้นฟูเพิ่มอีกว่า

 

นอกจากการใช้ยาในการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กแล้ว คุณพ่อ คุณแม่จำเป็นต้องช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กทางกายภาพอีกด้วย

 

สำหรับวิธีปฏิบัตินั้นสามารถให้ออกกำลังกายเบาๆ ที่เหมาะสมและเน้นที่การบริหารข้อต่างๆ ของร่างกาย เช่น การวิ่งช้าๆ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ หรือการบริหารข้อเพื่อไม่ให้เกิดอาการข้อติด

 

เช่น หากจะบริหารข้อเข่าอาจทำท่าหมุนหัวเข่า หากบริหารนิ้วมือ บริหารด้วยการกำมือแบบหลวมๆหรือฝึกบีบลูกบอล บริหารข้อเท้า อาจบริหารด้วยการยืนเขย่งหรือการกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง

 

ควรหลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่มีการกระแทกหรือการต่อสู้ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล หรือ เทควันโด จะทำให้ข้อเกิดการอักเสบมากขึ้นได้

 

นอกจากการรักษาด้วยยา และการฟื้นฟูทางกายภาพแล้วจำเป็นต้องดูแลในด้านต่างๆ อาทิ การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลือกทานอาหารที่สุก สะอาด

 

ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารดิบ เพราะเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้มักได้รับยากดภูมิคุ้มกันจึงติดเชื้อได้ง่ายซึ่งผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 

 

อย่างไรก็ตามการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กเป็นเรื่องที่ท้าทาย และละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็ก

 

การหมั่นสังเกตอาการและพบแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติจะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคและเติบโตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และผศ.มลรัชฐา ภาณุวรรณากร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี