Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

เด็กนักเรียนแบกกระเป๋าหนักเกิน ระยะยาวมีผลต่อพัฒนาการความสูง

เผยไม่ควรแบกเกิน 15% ของน้ำหนักตัว ชี้ทำหลังโค้ง ปวดไหล่ คอ หลัง เสี่ยงเตี้ยในระยะยาว ชงจัดตารางเรียนเหมาะสม ไม่ให้เด็กแบกของมาเรียนมากเกินไป มีล็อกเกอร์แบบต่างประเทศ

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 

 

จากการศึกษาพบว่านักเรียนไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 ต้องแบกกระเป๋าหนักเรียนที่หนักมากจนเกินมาตรฐาน ซึ่งทั่วโลกกำหนดเกณฑ์น้ำหนักกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมเอาไว้

 

คือ ไม่เกินร้อยละ 10-20 ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กมีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม (กก.) ควรแบกกระเป๋านักเรียนหนักไม่เกิน 2-4 กก.เท่านั้น 

 

ส่วนประเทศไทยคิดเป็นค่ากลางๆ คือ ไม่เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว ทั้งนี้การแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากเกินไป จะมีผลกระทบทำให้กระดูกสันหลังโค้ง ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่

 

บางคนเป็นระยะสั้นๆ บางคนเป็นเรื้อรัง ซึ่งในระยะยาวอาจมีผลต่อพัฒนาการด้านความสูงได้ แต่ที่สำคัญคือเมื่อมีปัญหาสุขภาพย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเรียน

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเตรียมศึกษาเรื่องน้ำหนักกระเป๋านักเรียนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามจากการหารือร่วมกันของคณะกรรมการกิจการสังคมเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและด้อยโอกาส

 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นควรว่าจะต้องเข้มงวดเรื่องน้ำหนักกระเป๋านักเรียนมากขึ้นโดยขอความร่วมมือจากครูให้พิจารณาจัดตารางเรียนที่เหมาะสม หากอุปกรณ์เยอะ

 

ควรมีระบบจัดเก็บไว้ที่โรงเรียนเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันโรงเรียนในประเทศไทยแทบจะมีเลย นอกจากนี้ต้องให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ

 

และช่วยดูแลน้ำหนักกระเป๋าไม่ให้เกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว โดยชั้น ป. 1-2 แบกไม่เกิน 3 กก. ชั้น ป.3-4 ไม่เกิน 3.5 กก. และชั้น ป.5-6 ไม่เกิน 4 กก.

 

ขณะเดียวกันก็ต้องจัดกระเป๋าให้ถูกวิธี โดยควรเป็นกระเป๋าสะพายไหล่ทั้ง 2 ข้าง จัดวางสิ่งของให้สมดุล ไม่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการได้รับไปดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง

 

ขอขอบคุณข้อมูลและคำแนะนำจาก : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000031608