อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี
รู้สึกเจ็บเหมือนหัวใจสลาย ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะคิดว่าเป็นคำพูดเกินจริง หรืออาจเป็นอุปาทานอย่างหนึ่งของคนอกหัก แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้นมีคำอธิบายของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว และอาการรู้สึกเหมือนหัวใจสลาย อาจเป็นอันตรายมากกว่าที่คุณคิด!
ก่อนจะพูดเรื่องอกหักคงต้องพูดเรื่องความรักเสียก่อน เนื่องจากในยามมีความรัก สมองจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งทำให้คนเกิดความพึงพอใจมีสมาธิ
กับสารออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งมีหน้าที่ลดความเครียด คลายความกังวล และทำให้รู้สึกอบอุ่นกับคนที่มีความผูกพันด้วย และยังมีสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin)
ที่ทำให้คนรู้สึกมีความสุข ลืมความเจ็บปวด นั่นจึงทำให้คนเรารู้สึกดีเมื่อมีความรัก
ทว่าเมื่ออกหักผิดหวังจากรักขึ้นมา ฮอร์โมนความเครียดได้แก่ คอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กดการทำงานของสมอง
โดยปกติแล้วจะหลั่งออกมาเมื่ออยู่ในสภาวะตึงเครียด หรือสภาวะที่รู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในอันตราย จะหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต และส่งสัญญาณไปที่สมอง
ฮอร์โมนคอร์ติซอล มีผลทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น ส่วนฮอร์โมนอะดรีนาลีน จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
โดยปกติแล้วสารทั้งสองจะมีประโยชน์สำหรับการกระตุ้นร่างกายในทำงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรับมือกับอันตราย เช่นที่เราอาจเห็นคนแบกของหนักเกินกำลังเมื่อไฟไหม้
แม้ว่าสารทั้งสองทำให้ร่างกายเอาตัวรอดจากอันตรายภายนอกได้ดี แต่หากเป็นอันตรายภายในใจเราเอง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อเอาตัวรอดแบบอันตรายภายนอก
จะทำให้เจ็บปวดที่หัวใจ เพราะหัวใจทำงานหนักทั้งที่ร่างกายไม่ได้มีการใช้งานหนัก เป็นสาเหตุที่ทำให้เจ็บหัวใจเมื่อเสียใจหรืออกหัก
อาการดังกล่าว ในทางการแพทย์เรียกว่า “กลุ่มอาการหัวใจสลาย” (Broken Heart Syndrome) หรืออาจเรียกเล่น ๆ ว่า “โรคอกหัก”
โดยมีรายงานการค้นพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1990 ในเอเชีย ซึ่งอาการนี้อาจทำให้คนถึงตายได้เหมือนกับโรคหัวใจ
วิธีการบรรเทาอาการหัวใจสลายขั้นพื้นฐาน ได้แก่การทำให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา และวิธีการทำให้เอนดอร์ฟีนหลั่งก็ไม่ยากอย่างที่คิด
แต่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ได้แก่ การร้องไห้ การหัวเราะ การออกกำลัง การนั่งสมาธิ การได้ทำสิ่งที่ชอบ
ดังนั้นหากเกิดอาการหัวใจสลาย ก็อย่าจมอยู่กับมันนานนัก หลังจากร้องไห้ออกมาจนพาแล้ว ก็ลองยืนหยัดขึ้นมา จากนั้นก็ลองทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองชอบ
แล้วก็อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี บอกกับตัวเองเสมอว่า “ถึงจะไม่มีใครรัก ไม่มีใครดูแลเรา แต่อย่างน้อยเราก็ยังรักและดูแลตัวเองได้”
เรื่องโดย รักต์ศรา
อ้างอิง : adrenalfatigue.org