Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

ภาวะ ‘ตาบอด’ ในเด็ก

ระดับสายตาที่ลดลงนี้มีผลทำให้เด็กมีการพัฒนาการเรียนรู้ช้าลง

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดในเด็กที่เป็นปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่พัฒนาคือ ขาดวิตามินเอ ภาวะนี้จะทำให้เกิดความผิดปกติในระบบต่างๆของร่างกาย

 

โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เด็กที่ขาดวิตามินเอติดเชื้อได้ง่าย และอาจถึงกับเสียชีวิตได้ 

 

สำหรับผลกระทบด้านดวงตา จะมีผลให้เยื่อบุตาแห้ง อาจเกิดแผลที่กระจกตาตามมา ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงอย่างมาก

 

สาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดในเด็ก ได้แก่ โรคที่เป็นแต่กำเนิด เช่น ต้อหิน ต้อกระจก โรคมะเร็งของประสาทตา รวมถึงกรณีที่มารดาเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

 

หรือดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เส้นประสาทตาเจริญผิดปกติ ประสาทตาฝ่อได้

 

หากจะกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 1 ปี สูญเสียการมองเห็น อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ

 

1.โรคหรือความผิดปกติภายในลูกตา อาจสังเกตได้ว่าเด็กมีภาวะตาสั่น กระตุกเป็นจังหวะร่วม ด้วย ตัวอย่างสาเหตุที่พบ ได้แก่

 

ภาวะสายตาสั้น หรือสายตายาวมากผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไขในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดเดี่ยวๆ หรือเกิดร่วมในกลุ่มอาการต่างๆได้

 

ส่วนสาเหตุอื่นๆได้แก่ โรคต้อ กระจกแต่กำเนิด ซึ่งอาจเกิดจากการติด เชื้อขณะอยู่ในครรภ์มารดา หรือเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ โรคต้อหินแต่กำเนิด ความผิดปกติของกระจกตา

 

ทำให้กระจกตาขุ่นขาวบังการมองเห็น ภาวะประสาทตาฝ่อ โรคผิวเผือก ซึ่งมีความผิดปกติของจอประสาทตาส่วนที่เป็นศูนย์กลางการมองเห็นร่วมด้วย

 

โรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคที่สำคัญมากสำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

 

2.โรค หรือความผิดปกติในสมอง เด็กจะสูญเสียการมองเห็น ซึ่ง อาจเกิดจากการที่สมองขาดเลือดหรือ ขาดออกซิเจน สมองได้รับความกระทบ กระเทือน การติดเชื้อ

 

หรือความผิดปกติแต่กำเนิดภายในเนื้อสมอง เป็นต้น เด็กที่มีความผิดปกติเช่นนี้มักไม่มีภาวะตาสั่นกระตุก และการตรวจภายในลูกตาจะไม่พบความผิดปกติใดๆ

 

โดยปกติเด็กในช่วงแรกเกิดถึง 2 เดือน การมองเห็นยังไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ ตาจะมองลอยไปมาในทิศทางต่างๆ ดังนั้น หากเด็กไม่จ้องตาก็ไม่ควรกังวลเกินไปนัก

 

เนื่องจากจอประสาทตายังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ แต่หากเด็กมีอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ยังไม่มองหน้าแม่เวลาป้อนนม หรือไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว ควรรีบหาสาเหตุทันที 

 

ในกรณีที่เด็กมองไม่เห็น เด็กอาจใช้นิ้วมือกดที่ลูกตาเพื่อกระตุ้นให้เกิดแสงวาบขึ้น ดังนั้น พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอย่างสม่ำเสมอ เพราะอากัปกิริยาดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณว่าสายตาไม่ดี

 

การรักษาภาวะตาบอดในเด็ก ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น ถ้าเป็นต้อกระจก ต้อหิน ต้องรีบให้การรักษาทันที เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาด้านสายตาเป็นปกติ แต่บางโรคก็ไม่สามารถรักษาได้ เช่น โรคเส้นประสาทตาฝ่อแต่กำเนิด 

 

อย่างไรก็ตาม เด็กเหล่านี้ควรได้รับการส่งต่อไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษ ได้แก่ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาด้านการมองเห็นตั้งแต่วัยแรกเกิด ในการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูสมรรถภาพการมองเห็นต่อไป

 

สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้เสมอคือ ช่วงที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างพัฒนาการการมองเห็นในเด็กคือ อายุ 0-3 ปี เพราะสมองจะมีการเรียนรู้ได้เร็วที่สุด และถือว่าเป็นช่วงทองของชีวิตที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

 

 

ที่มา : โลกวันนี้วันสุข โดย พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล จักษุแพทย์ โรงพยาบาลศีริราช