Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

‘กระดูกพรุน’ แค่ไอเบาๆ เสี่ยงซี่โครงหัก

ยิ่งเป็นในช่วงระยะหนักมากๆ บางครั้งเพียงแค่ไอ หรือจามเบาๆ ก็ทำให้กระดูกซี่โครงหักได้

 

ปัจจุบันการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีสถิติเพิ่มมากขึ้นในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

 

ทำให้เราหันมาดูแลใส่ใจและรักษา “สุขภาพ” กันมากกว่าเดิม แต่มีอยู่โรคหนึ่งที่เรามักมองข้าม หรือบางคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่า

 

โรคนี้ร้ายแรงติดอันดับ 1 ใน 10 ที่คร่าชีวิตคนไทย...นั่นคือ “โรคกระดูกพรุน” เพราะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆ กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ให้ความรู้ว่า “โรคกระดูกพรุน” เป็นโรคที่กระทบต่อร่างกายอย่างช้าๆ จึงเป็นภัยเงียบที่ค่อยๆ ลุกลาม ถ้าหากใครไม่ใส่ใจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียดจริงๆ

 

จะไม่ทราบเลยว่าเป็นโรคนี้อยู่ ยิ่งปัจจุบันการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การนั่งจ้องหน้าคอมฯ เป็นเวลานานๆ ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น ที่สำคัญสามารถเกิดได้ทุกเพศ โดยมักเป็นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

 

“โรคกระดูกพรุน” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “ออสทีโอพอรอสิส” (Osteoporosis) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระดูกที่เกิดเนื่องจากมีความไม่สมดุลในกระบวนการผลัดผิวกระดูก

 

โดยเซลล์สลายกระดูกทำงานมากกว่าเซลล์สร้างกระดูก ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง เนื้อกระดูกบางลง มีความแข็งแรงน้อยลง และเปราะบางเพิ่มมากขึ้น

 

ปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ คือ เนื่องจากมันไม่มีอาการใดๆ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็น “โรคกระดูกพรุน” ก็ต่อเมื่อมีกระดูกหักหลังจากเกิดอุบัติเหตุ

 

เช่น หกล้ม ตกบันได ตกจากเก้าอี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีการไอ หรือจามอย่างรุนแรงก็อาจทำให้กระดูกซี่โครงหักได้

 

ผู้ที่เป็น “โรคกระดูกพรุน” จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ “กระดูกหัก” ยิ่งเป็นในช่วงระยะหนักมากๆ บางครั้งเพียงแค่ไอหรือจามเบาๆ ก็ทำให้กระดูกซี่โครงหักได้ 

 

การเดินลื่นหกล้มแม้จะยั้งตัวได้โดยที่ศีรษะไม่ฟาดพื้นก็อาจเกิดกระดูกข้อมือหักจากการใช้มือยันตัวไว้ ตำแหน่งของกระดูกที่หักส่วนใหญ่จะเป็นที่กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง 

 

เมื่อหกล้มเราก็จะเอามือยันพื้นไว้เพื่อประคองตัว แต่ด้วยความที่เนื้อกระดูกบางลง จึงไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้เต็มที่ เหมือนตอนหนุ่มสาวจึงทำให้หัก

 

เมื่อกระดูกข้อมือหักก็ใช้มือข้างนั้นหยิบจับอะไรไม่ได้ ในระหว่างที่เข้าเฝือก 

 

หากมีการลื่นล้มหรือตกบันได หรือตกจากเก้าอี้ ก้นก็จะกระแทกพื้น ทำให้เดินไม่ได้ในระหว่างการรักษา และต้องนอนติดเตียง ซึ่งอาจเกิดแผลกดทับ หรือโรคอื่นๆ ตามมาหากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ

 

ดังนั้น วิธีลดปัจจัยเสี่ยงและชะลอ “โรคกระดูกพรุน” โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบดื่มนม หรือแพ้นมจะมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า แต่สามารถป้องกันได้ ด้วยการทานผักผลไม้ที่มีแคลเซียมสูง หรือแคลเซียมอัดเม็ดแทน 

 

การกินแคลเซียมให้เพียงพอ คือประมาณวันละ 1,000 มิลลิกรัม แต่ผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน (อายุ 50 - 55 ปี) ควรทานวันละ 1,500 มิลลิกรัม

 

หาได้จากอาหาร เช่น นม ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งแห้ง กุ้งฝอย กะปิ เต้าหู้เหลือง หรือแคลเซียมอัดเม็ด

 

นอกจากอาหารแล้วการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง เดินเร็วๆ ที่มีการลงน้ำหนักบนกระดูก (ไม่วิ่งจ๊อกกิ้ง ไม่วิ่งบนพื้นปูน หรือซีเมนต์ และไม่เดินทอดน่อง)

 

ยกน้ำหนัก ลีลาศ และฝึกการทรงตัว เช่น ยืนขาข้างเดียว และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีค่าดัชนีมวลกาย ระหว่าง 18-23 (นำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)

 

 

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์