Loading...

HEALTH CORNER

อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี

ฝึกสติวัยรุ่นไทย ลดความรุนแรง

ชี้สัญญาณเตือนที่สังเกตได้ง่ายๆ ก่อนเกิดเหตุ "แววตา วาจา และสัมผัส" ที่แตกต่าง

 

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง ปัญหาความรุนแรงของเด็ก และวัยรุ่นในปัจจุบันว่า โดยธรรมชาติของวัยนี้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ หาประสบการณ์

 

อยากลองสิ่งแปลกใหม่ สิ่งที่ท้าทาย ไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมาในอนาคต สาเหตุมาจากปัจจัยภายใน และปัจจัยแวดล้อมนอกตัวเด็ก .

 

ปัจจัยภายใน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ฮอร์โมน จิตใจ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่สำคัญ คือ เด็กไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง

 

ขณะที่ ปัจจัยแวดล้อมภายนอก ได้แก่ สภาพครอบครัว ระบบการศึกษา กลุ่มเพื่อน และสังคม ที่สร้างความกดดันให้แก่เด็กหรือวัยรุ่น

 

เช่น การบังคับหรือลงโทษ กวดขันอย่างเข้มงวด ปิดกั้นไม่ให้อิสระ การปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง ตลอดจนการถูกตำหนิหรือต่อว่าจากสังคม ยิ่งหากถูกดูแคลนว่าด้อยความสามารถ 

 

พวกเขาก็จะแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจ จากสังคมทั่วไป และจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งวิธีการที่คิด และทำได้ง่าย ทำให้รู้สึกเด่นดัง เพื่อนเห็นความสามารถ และยอมรับ ก็คือ การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ยกพวกตีกัน 

 

นอกจากนี้ การประคบประหงมจากครอบครัวจนเกินเหตุ รวมทั้งสภาพสังคม และสื่อ ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงรอบด้านที่เด็กเห็นจนชินชา

 

จนเกิดการซึมซับ ล้วนเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดพฤติกรรมเสี่ยงหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าวรุนแรง และใช้กำลังในการแก้ปัญหาได้ทั้งสิ้น

 

เด็ก และวัยรุ่นจะมีแนวโน้มเป็นคนก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาหรือไม่นั้น สังเกตได้จากเด็กที่ชอบก่อกวน โหดร้ายทารุณสัตว์ ชกต่อย ทำร้ายร่างกายตนเอง และผู้อื่น

 

ทำลายข้าวของ ขู่คุกคาม ไม่เคารพกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจน เด็กที่เก็บตัว เก็บกด ไม่เคยได้ระบายความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสม ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันลด และแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

โดยอาจแบ่งกลุ่มเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นปัญหามาก เป็นหัวโจก ปลุกระดมกับกลุ่มเด็กปกติ หรือกลุ่มเด็กที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรง 

 

ซึ่งเด็กกลุ่มแรกอาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายมาช่วยแก้ เพื่อให้เด็กเกิดการยอมรับว่าเขาทำผิด ก็ต้องได้รับผลจากการกระทำความผิดนั้น ซึ่งในระบบกฎหมายจะมีเรื่องการฟื้นฟูจิตใจให้ดีขึ้น

 

ทั้งการปรับพฤติกรรม และอารมณ์ เพื่อให้ผู้กระทำผิดออกมาเป็นคนดีของสังคม ขณะที่ครอบครัว ชุมชน สังคม ก็ต้องให้การยอมรับ ไม่ตีตรา ตอกย้ำ

 

ดูถูกเหยียดหยามถึงความผิดของพวกเขา เพื่อให้พวกเขามีโอกาสปรับตัว กลับมาเป็นคนดีของสังคมได้

 

ส่วนเด็กกลุ่มปกติ หรือมีความเสี่ยง ควรมีการส่งเสริม ป้องกัน มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมเสริมสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ใช้พลังขับด้านความรุนแรงที่มีอยู่ในตัวทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์

 

และมีประโยชน์ให้มากที่สุด ที่สำคัญควรฝึกสติ ให้กับพวกเขา เพื่อช่วยให้ รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง สามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การกลายเป็นปัญหาของสังคมได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

 

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวย้ำว่า ความรุนแรงในเด็ก มักมีสาเหตุเสมอ และมักเกิดกับคนใกล้ชิด 

 

สัญญาณเตือนที่สังเกตได้ง่ายๆ ก่อนเกิดเหตุ คือ "แววตา วาจา และสัมผัส" ที่แตกต่าง หากเจออาการแบบนี้ให้หลีกเลี่ยง และใช้สติในการจัดการ สำหรับแนวทางป้องกัน ใน ระดับครอบครัว

 

พ่อแม่ต้องรักลูกให้ถูกทาง แสดงความรักต่อลูกอย่างถูกต้องเหมาะสมในทางที่ถูกที่ควร เปิดใจ คุยปัญหาได้ทุกเรื่อง อบรมให้ลูกสามารถแยกแยะผิดถูก ชั่วดีได้ ตลอดจน สอดส่องพฤติกรรม และดูแลลูกอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น 

 

ระดับสถานศึกษา ครูอาจารย์ ต้องเป็นเหมือนพ่อแม่อุปถัมภ์ ที่สามารถเปิดใจคุยปัญหาได้ทุกเรื่อง ติดตามเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังเด็กที่เริ่มมีผลการเรียนตกต่ำ

 

หรือใช้สารเสพติด ปลูกฝังความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สนับสนุนให้เกิดระบบเพื่อนช่วยเพื่อน เตือนกันเมื่อเพื่อนจะทำผิด ชักจูงให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี 

 

ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่เกิดจากความต้องการของเด็กเอง เพื่อให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความมีคุณค่าในตนเอง เกิดการยอมรับในกลุ่มเพื่อน 

 

ได้ระบายออกถึงแรงขับความรุนแรงที่มีอยู่ภายในอย่างสร้างสรรค์ 

 

ตลอดจน จัดกิจกรรมปรับพฤติกรรม เสริมทักษะชีวิต พัฒนา EQ โดยเฉพาะ การฝึกสติ ให้กับพวกเขา ซึ่งสถานศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งได้มีการนำสติไปใช้ พบว่า

 

การฝึกสติ มีความสำคัญ และจำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และวัยรุ่นในโรงเรียน 

 

ส่งผลให้เส้นใยสมองของเด็กหนาตัวขึ้น มีการเชื่อมโยง และส่งต่อภายในระบบโครงสร้างสมองมากขึ้น ตลอดจนเด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พฤติกรรม และพัฒนาการทางด้านต่างๆ ดีขึ้นในทุกด้านอีกด้วย

 

"วิธีง่ายๆ ให้เด็กๆ ได้ลองฝึก คือ อยู่กับลมหายใจหรืออารมณ์ที่มีอยู่ รับรู้ว่าตอนนี้มีอารมณ์แบบใด ถ้าเป็นอารมณ์ด้านลบ ก็ให้พยายามขจัดมันออกไป 

 

ซึ่งการรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง จะช่วยทำให้อารมณ์ขุ่นมัวที่มีน้อยลงไปด้วย" ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าว

 

 

ที่มา : กรมสุขภาพจิต