อ่านเรื่องราวพบคำแนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี พร้อมกิจกรรมและข่าวสารให้คนรักสุขภาพได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธี
อาการของโรคเกาต์
อาการปวดอย่างรุนแรงบริเวณข้อ ร่วมกับบริเวณโดยรอบข้อจะบวมแดง และร้อน อาจมีไข้ต่ำๆได้ อย่างไรก็ตามอาการในระยะเฉียบพลันอาจหายเองได้
แต่ถ้าหากเป็นโรคเกาต์เรื้อรัง อาจพบก้อนแข็งสีขาวใต้ผิวหนังที่เรียกว่า Tophi โดยมักใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปีหลังจากมีอาการโรคเกาต์ครั้งแรก โดยก้อนนี้อาจเกิดการอักเสบ หรือแตกได้ (สิ่งที่ไหลออกมาจะมีลักษณะคล้ายยาสีฟัน)
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเกาต์
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ ข้อจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดอาการปวดในระยะยาว และเกิดข้อผิดรูปซึ่งอาจทำให้เกิดความพิการได้
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่พบ ได้แก่ มีการอักเสบหลายข้อ และนิ่วไต
สาเหตุของโรคเกาต์
โรคเกาต์เกิดจากการมีกรดยูริกปริมาณมากในร่างกาย ซึ่งเกิดจากได้หลายสาเหตุ เช่น การกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง ไตไม่สามารถขับกรดยูริกออกได้ และร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป
เมื่อมีกรดยูริกปริมาณมากจะทำให้เกิดการสร้างผลึก และถูกสะสมบริเวณเนื้อเยื่อ และรอบข้อ โดยผลึกมักถูกสร้างในบริเวณที่มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ(เย็น) จึงมักพบโรคเกาต์บริเวณนิ้วมือ และนิ้วเท้า
อย่างไรก็ตามระดับกรดยูริกอาจไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรค แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ผู้ชายอายุ 30-60 ปี ผู้หญิงวัยทอง
กินอาหารที่มีกรดยูริกสูง (เช่น เนื้อแดง อาหารทะเล) และการกินเครื่องดื่มแอลกฮอล์(โดยเฉพาะเบียร์) เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเกาต์
แพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกายเบื้องต้น ร่วมกับตรวจเลือดเพื่อวัดระดับกรดยูริกในเลือด หากมีอาการที่เข้าได้กับ
โรคเกาต์อาจจำเป็นต้องเจาะน้ำไขข้อเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคต่างๆ และเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป หรือถ่ายภาพรังสีบริเวณข้อร่วมเพื่อแยกโรคอื่นๆออกด้วย
การรักษาโรคเกาต์
โรคเกาต์สามารถหายได้เองภายใน 2 อาทิตย์ แต่หากไม่รับการรักษา หรือป้องกันการเกิดโรค จะทำให้โรคกลับเป็นซ้ำบ่อยขึ้น และรุนแรงมากขึ้น
ซึ่งสามารถรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง ดอกกะหล่ำ ลดน้ำหนัก และงดกินเครื่องดื่มแอลกฮอล์
ร่วมกับการกินยา ซึ่งแบ่งเป็นการกินยาในระยะเฉียบพลัน(บรรเทาอาการปวด) และการกินยาเพื่อลดระดับกรดยูริกในเลือดซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bupa.co.th/