Loading...

NEWS & ACTIVITIES

“หมอแมะ” เลือดใหม่ นายแพทย์ธเนศ อมรพิทักษ์กูล


"คนไทยส่วนใหญ่มองเรื่องสมุนไพรว่าล้าสมัยและไม่ปลอดภัย แต่สำหรับผมไม่เคยมองสมุนไพรล้าสมัย เพราะเห็นความหัศจรรย์ของสมุนไพรแล้ว ว่าใช้รักษาโรคได้มากมาย ทำให้ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย” นั่นคือเหตุผลสั้นๆ ที่ทำให้หมอหนุ่มอย่าง นพ.ธเนศ อมรพิทักษ์กูล หันมาศึกษาเรื่องสมุนไพรและการฝังเข็มแบบจีนทันทีที่ศึกษาจบจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

“หมอแมะ” เลือดใหม่ นายแพทย์ธเนศ อมรพิทักษ์กูล

         
       หมอแบงค์-นพ.ธเนศ อมรพิทักษ์กูล แพทย์แผนปัจจุบันและผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน  เจ้าของ Herb Plus Clinic บอกว่าสนใจเรื่องยาสมุนไพรเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะตอนเด็กได้เห็นอากงที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ใช้สมุนไพรรักษาลูกหลานยามเจ็บไข้อยู่บ่อยๆ ซึ่งได้ผลจริง อีกทั้งเมื่อโตมาเป็นนักเรียนแพทย์รามาฯ เขาป่วยเป็นไข้ รักษาทางแพทย์ปัจจุบัน ก็ไม่หายขาด ทานยาก็เป็นการกดระงับชั่วคราว พอยาหมดฤทธิ์ก็กลับมาอีก
       
       อีกประสบการณ์หนึ่งที่เกิดกับแม่ของเขา คือตอนเรียนปีสุดท้าย แม่ของหมอป่วยเป็นโรคหอบหืด เขาจึงพาแม่ไปหาระดับอาจารย์หมอ  ซึ่งเป็นแพทย์แผนปัจจุบันที่เชี่ยวชาญด้านปอดของเมืองไทย หมอให้ยาสเตียรอยด์ ทั้งพ่น ทั้งกิน ปรากฏแม่หมอแบงค์หน้าบวมมาก อาการหอบก็หนักขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์หมอที่รักษาก็ให้ยาสเตียรอยด์เพิ่มขึ้น
        

 

 

 

 

“หมอแมะ” เลือดใหม่ นายแพทย์ธเนศ อมรพิทักษ์กูล

         
       หมอแบงค์บอกว่า การรักษาครั้งนั้นเต็มไปด้วยความกังวลใจ  แต่หลังจากเมื่อได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรและการฝังเข็มตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน  หมอแบงก์จึงให้แม่หยุดสเตียรอยด์ เปลี่ยนมากินสมุนไพรรักษาปอดแทน ผลคืออาการหอบของแม่ดีขึ้นมาก
       
       เหตุการณ์นี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หมอแบงก์หันมาสนใจและศึกษาอย่างจริงจังเรื่องใช้สมุนไพรเพื่อรักษาอาการป่วยรวมถึงการแพทย์แผนจีนโบราณ  ดังนั้น ทันทีที่เรียนจบคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เขาก็สอบเข้าอบรมแพทย์เฉพาะทาง ด้านการฝังเข็ม ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน กับกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย
       
       หลังจบหลักสูตรฝังเข็มเป็นแล้ว  หมอแบงก์ใช้เวลาเรียนศาสตร์ “แมะ” ทั้งที่เมืองไทยและจีน อีกเป็นเวลา 3 ปี จึงจะ “แมะ” ตรวจชีพจร คนไข้ได้จริง

 

 

 

 

“หมอแมะ” เลือดใหม่ นายแพทย์ธเนศ อมรพิทักษ์กูล

         
       “การแมะ” เป็นการตรวจจับชีพจรเพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะภายใน รวมถึงการไหลเวียนของเลือด และปริมาณสารจำเป็นในร่างกาย แทนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดในการตรวจจับความผิดปกติเล็กๆน้อยๆที่ก่อให้เกิดโรคร้าย
        
       
       “แมะ”เป็นศาสตร์ที่ยากมาก ในเมืองไทยมีหมอแผนปัจจุบันที่แมะเป็นจริงๆไม่ถึง 10 คน ระหว่างเรียนเรื่องการแมะ ผมก็ศึกษาเรื่องการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรคด้วย ก็ทำให้รู้ว่าการรักษาโดยใช้สมุนไพรตัวเดียวเป็นเรื่องผิด การรักษาที่ถูกต้อง จะต้องใช้สมุนไพรเป็นตำรับ คือ นำสมุนไพรหลายชนิดมาปรุงร่วมกันในสัดส่วนที่ถูกต้องเหมือนการปรุงยา การกินสมุนไพรตัวใดเดี่ยวๆอย่างที่นิยมในปัจจุบัน นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ถ้ากินติดต่อกันนานๆจะเป็นพิษทันที” หมอแบงค์กล่าว
       
       3 ปีที่หมอแบงค์ศึกษาศาสตร์นี้จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการ “แมะ” วิธีตรวจโรคของหมอแบงค์คือ ใช้นิ้วมือกดจับชีพจร  เพียงไม่ถึง 2 นาทีก็สามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว

 

 

 

 

“หมอแมะ” เลือดใหม่ นายแพทย์ธเนศ อมรพิทักษ์กูล

         
       “การแมะสำหรับผมก็คือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่สแกนร่างกายคนไข้ คือผมเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น เป็นวิธีที่จะบอกว่าร่างกายมีภาวะร้อนหรือเย็นเกินไป เพื่อให้เราใช้เป็นหลักการปรับสมดุลร่างกายรักษาโรคได้แม่นยำ การรักษาโรคตามหลักการแพทย์แผนจีน จะมีลักษณะพิเศษตรงที่ไม่ได้รักษาที่อาการ(ปลายเหตุ) แต่รักษาที่มูลเหตุ ยกตัวอย่างปวดหัวไม่ได้รักษาที่หัว เพราะที่หัวเป็นอาการแล้ว แต่ไปดูที่รากเหง้าของตัวที่ทำให้เกิดอาการที่หัว”
        
       
       โดยการรักษาแยกออกเป็น 2 แนวทางคือ รักษาด้วยตามอาการ และรักษาแบบผกผัน หรือกลับกันกับอาการป่วย เช่น ท้องแน่นไม่ได้แปลว่าอิ่ม แต่จริงๆแล้วอาจเป็นเพราะท้องว่าง ก็ต้องรักษาในทางตรงกันข้ามกัน หรืออย่างถ้าร่างกายหนาวก็ต้องทำร่างกายให้อบอุ่น ซึ่งเป็นการรักษาแบบทางตรง
       
       “แต่การรักษาแบบจีนไม่ใช่ว่ารักษาที่ต้นเหตุทุกครั้งไป ต้องดูอาการและทำให้อาการลดน้อยลง เช่น ร้อนมากๆก็ต้องทำให้หายร้อนก่อน เพราะคนที่ภาวะร่างกายร้อนเกินไป ร่างกายจะทำงานหนักเสื่อมสภาพเร็ว เหมือนเครื่องยนต์ที่ที่ใช้งานหนักก็จะร้อน ไม่ป้องกันก็เกิดไฟลุกไหม้ อาการของที่ร่างกายสังเกตเห็นง่ายคือ คอแห้ง, ปากแห้ง,  หงุดหงิด, มีไข้ช่วงบ่าย-ค่ำ, ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน และปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ทั้งสองภาวะก่อให้เกิดโรคร้าย ทั้งโรคหัวใจ, มะเร็ง, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง" หมอแบงค์กล่าว

 

 

 

 

“หมอแมะ” เลือดใหม่ นายแพทย์ธเนศ อมรพิทักษ์กูล

         
       จากประสบการณ์ในการใช้สมุนไพรรักษาคนไข้นานกว่า 10 ปี หมอแบงค์ยังบอกอีกว่า คนไข้ที่มารักษากับเขา จำนวนกว่า 90% มีภาวะเย็นเกินไป อันเนื่องมาจากนิสัยการกิน ด้วยความที่บ้านเราอากาศร้อน คนไทยจึงชอบกินน้ำเย็นและน้ำแข็ง ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเย็นเกินไป อวัยวะทำงานไม่เต็มที่ ต่อให้กินอาหารชั้นดี แต่หากกินไม่ตรงอาการร่างกายก็ไม่แข็งแรงอยู่ดี
              
       ก่อนจากกันหมอแบงค์ยังเปิดมุมมองถึงการแพทย์แผนปัจจุบันว่า เป็นสิ่งดี แต่สมุนไพรก็มีดี เพราะถ้ายาปัจจุบันดีทั้งหมด ก็คงไม่มีคนตายจากมะเร็งมากเท่านี้ สะท้อนว่ายาแผนปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย “เราต้องเชื่อมั่นว่าสมุนไพรเป็นสิ่งดีและมีประโยชน์เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่บรรพบุรุษสะสมมายาวนาน”
       
       ภาพ     วรวิทย์ พานิชนันท์
       เรื่อง     วรกัญญา

http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9570000110391